ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

Thailand 4.0

Thailand 4.0 


อะไร อะไรก็ 4.0 Thailand 4.0

ประเทศไทย 4.0 โมเดลเศรษฐกิจใหม่
      

Thailand 4.0 เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยในยุค 1.0 เป็นยุคเกษตรกรรม จากนั้นกลายเป็นยุค 2.0 ที่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยงานหรือเป็นยุคของอุตสาหกรรมเบา ในขณะที่ยุค 3.0 เป็นยุคอุตสาหกรรมหนักและมีการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในยุค 3.0 ยังมีความเปราะบางต่อสถานการณ์โลก และประเทศไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ ดังนั้นจึงนำมาสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นที่การแก้ปัญหาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เราจึงต้องพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า New Economy Model มีการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ได้ด้วยตนเอง ต้องมีการปฏิรูปทั้งโครงสร้างในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาคธุรกิจ การเกษตร การศึกษา และแรงงาน จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักรและทรัพยากร เปลี่ยนมาเป็นการผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี  โดยมีการดึงสถาบันวิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศไทย และมีความ







ร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน ให้มากขึ้นที่เรียกว่าประชารัฐ โดยมีเป้าหมายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใน 3-5 ปี

ในการสร้างโมเดล Thailand 4.0 หรือ "ประเทศไทย 4.0" หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่เป็น Value-based Economy นั้น ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 5 อุตสาหกรรมหลักได้แก่

Food, Agriculture & Bio-tech
Health, Wellness & Bio-Medical
Smart Devices, Robotics & electronics
Digital & Embedded Technology
Creative, Culture & High Value Service
ส่วน Industry 4.0 มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศเยอมันนี ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก โดยนำสถาบันการศึกษา นโยบายรัฐ สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรมมาร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ในอันที่จะทำให้เทคโนโลยีการผลิตในประเทศสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยผ่าน cyber-physical system (CPS), Internet of Things (IoT) และ Cloud Computing เช่น ในการสร้าง Smart Factory ที่ติดตั้ง sensor ในส่วนต่าง ๆ ของโรงงานแล้วนำไปแสดงผลให้มนุษย์เข้าใจและสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์แบบเวลาจริงตัดสินใจอย่างชาญฉลาดอัตโนมัติ โดยใช้แรงงานมนุษย์ให้น้อยที่สุด



ตัวเลข 4 ในคำว่า Industry 4.0 มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยยุคที่ 1 เกิดเครื่องจักรไอน้ำ ในยุคที่ 2 มีการนำไฟฟ้า มอเตอร์ และสายพานมาใช้ ส่วนในยุคที่ 3 เป็นยุคของอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติเกิดขึ้น ส่วนในยุคที่ 4 จะเน้นที่ cyber-physical systems (CPS) คือนำข้อมูลทุกอย่างจาก sensor ไปไว้บน digital platform และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันด้วย IoT กลายเป็น Smart Factory ที่สามารถแสดงสถานะแบบเวลาจริงได้ทุกที่ทุกเวลาผ่าน Cloud ซึ่งจะทำให้เกิด Mass Customization ทำให้โรงงานสามารถผลิตสินค้าที่ customized ตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างง่ายดาย



เมื่อไม่นานนี้ นายกสภาอุตสาหกรรมได้ระบุว่า Industry 4.0 สามารถแก้ปัญหาอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ ได้แก่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดย Industry 4.0 ทำให้คนทำงานได้อย่างมี Productivity สูงขึ้น จึงใช้จำนวนคนน้อยลง ส่วนปัญหาการแข่งขันในตลาดสูง ก็จะทำให้มี Market Share ต่ำลง Industry 4.0 สามารถทำให้องค์การนำหน้าการแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากมีข้อมูลแบบเวลาจริงตลอดเวลา ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ด้านปัญหาต้นทุนการผลิตสูง Industry 4.0 ก็จะช่วยลดต้นทุนในระยะยาวเนื่องจากทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาสินค้าที่ผลิตขึ้นไม่น่าตื่นเต้น Industry 4.0 ก็สามารถผลิตสินค้าที่ customized ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และสุดท้าย ปัญหากำไรน้อย  เมื่อ Industry 4.0 สามารถช่วยสร้างสินค้าที่ตรงกับความต้องการลูกค้า ดังนั้นผู้ผลิตจึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น



ส่วน 4.0 คำสุดท้ายที่ขอเสนอในบทความนี้ คือคำว่า Education 4.0 เกิดขึ้นจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า "การศึกษาระบบ Chula Engineering Education 4.0" อย่างเป็นทางการไปเมื่อปี 2557 ในช่วงที่ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ดำรงตำแหน่งคณบดี เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนไปสู่นักสร้างนวัตกรรม



การศึกษาระบบ 1.0 เป็นการศึกษาที่เน้นการบรรยายและการจดจำความรู้ ส่วนการศึกษาระบบ 2.0 เป็นการศึกษาที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง การศึกษาระบบ 3.0 เป็นการศึกษาในปัจจุบันที่เป็นสังคมแห่งความรู้ ผู้เรียนต้องมีทักษะในการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำเดิม รวมถึงสามารถทำงานเป็นทีมได้ ในขณะที่การศึกษาระบบ 4.0 เป็นการศึกษาสู่อนาคต ที่เน้นการผลิตคนไปสร้างสรรค์นวัตกรรม

ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการศาสตร์การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking กลายเป็นการศึกษาระบบ 4.0 ขึ้นมา โดยมีการริเริ่มรายวิชา Creative Design for Community ซึ่งผู้เรียนจะได้พัฒนาโครงงานจริงไปแก้ปัญหาให้กับองค์การจริง และมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking มาร่วมสอนและให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ยังนำเอาแนวคิดแบบ CDIO (Conceive-Design-Implement-Operate) เข้ามาใช้เป็นกรอบงานในกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นโครงงานเป็นฐาน โดยได้สร้างห้องเรียนแบบ Smart Classroom ที่เรียกว่า i-SCALE ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนได้สะดวก และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และได้สร้างศูนย์ i-Design Workspace ขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบ Engineering Playground ที่ผู้เรียนสามารถสร้าง Prototyping ของนวัตกรรมของตนเองได้

รูปที่ 1 ห้อง i-SCALE ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รูปที่ 1 ห้อง i-SCALE ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปี 2559 นี้ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะนำแนวคิดนี้ไปดำเนินการในคณะอื่นๆ ด้วย โดยจะเน้นการสร้างนวัตกรรมใน 4 ธีมหลัก ได้แก่ (1)Aging Society, (2)Food, Energy and Water, (3) Robotic and Digital Tech และ (4) Smart City and Inclusive Community นอกจากนี้ จะจัดสร้าง Siam Innovative District ในบริเวณสยามสแคร์ โดยตั้งใจให้เป็น Innovative Hub สำหรับบริษัท Startup รุ่นใหม่ที่ต้องการเงินทุน โครงสร้าง และการฝึกอบรมบ่มเพาะ เพื่อนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายการเป็น World Class National Innovation University



ถึงแม้ว่า 4.0 ทั้ง 3 คำนี้ จะมีความหมายและที่มาแตกต่างกัน แต่ทั้งสามคำก็มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลาง โดยนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นแกนหลักในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างเป็นองค์รวม จะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และการบริการด้วยเช่นกัน


ผู้เขียน
ผศ.ดร.เนื่องวงศ์ ทวยเจริญ

วิทยากร 9Expert Training

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย



***************************


นางสาวจุไรรัตน์ น้อยรอด ม.5/1 เลขที่ 5

ความคิดเห็น